Position of Adverb (Adverb // ตำแหน่งถูกต้อง ความหมายก็ชัดเจน)

Position of Adverb (Adverb // ตำแหน่งถูกต้อง ความหมายก็ชัดเจน)
จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน (Asean Economics Community: AEC) ทำให้คนไทยต้องตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้เป็นภาษากลางในการทำงานของอาเซียน (กฎบัตรอาเซียน ข้อ ๓๔) โดยภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่ใช้ในระหว่างการประชุม การโต้ตอบทางจดหมาย การจัดทำรายงานการประชุม ตลอดจนการจัดทำแถลงการณ์ของอาเซียน ดังนั้นการเรียนรู้หลักไวยากรณ์ไม่ใช่สิ่งที่ควรละเลยอีกต่อไป เนื่องจากหลักไวยากรณ์เป็นรากฐานของภาษาอังกฤษที่ดี ถ้าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะช่วยให้เราเขียน และพูดภาษาอังกฤษได้ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนจดหมาย หรือการพูดที่เป็นทางการ ซึ่งเราควรใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้องและตรงประเด็น
   การเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ "Adverb" หรือ "คำกริยาวิเศษณ์" นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรศึกษา เพื่อการใช้ที่ถูกต้องตามความหมายที่เราต้องการสื่อสาร คำกริยาวิเศษณ์มีด้วยกันหลายชนิด ใช้สำหรับขยายคำกริยา คำคุณศัพท์ หรือคำกริยาวิเศษ เพื่อให้มีความหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 
   บทความต่อไปนี้จะเน้นเฉพาะคำกริยาวิเศษณ์ที่ขยายคำกริยา เพื่อบอกลักษณะอาการ (Adverb of manner) บอกสถานที่ (Adverb of place) และบอกเวลา (Adverb of time) เท่านั้น ซึ่งตามปกติคำกริยาวิเศษณ์เหล่านี้จะถูกวางไว้หลังคำกริยาที่ต้องการขยายเสมอ แต่ถ้าคำกริยามีกรรมมารองรับ ก็ต้องวางคำกริยาวิเศษณ์เหล่านี้ไว้หลังกรรมนั้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้ สำหรับคำกริยาวิเศษณ์ที่ลงท้ายด้วย -ly ซึ่งไม่ได้เป็นคำสำคัญของประโยคก็สามารถนำมาวางไว้หน้าคำกริยาได้เลย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

Somchai speaks English well. สมชายพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก
The children are playing upstairs. เด็กๆ กำลังเล่นกันอยู่ชั้นบน
Jo sang the song beautifully. โจร้องเพลงนั้นได้ไพเราะ
Gary angrily tore up the letter. แกรี่ฉีกจดหมายอย่างฉุนเฉียว
I slowly began to feel better again. ผมเริ่มรู้สึกกลับมาดีขึ้นอีกครั้งอย่างช้าๆ
Dave slowly spelled out his name to the policeman.  เดฟสะกดชื่อของเขาแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างช้าๆ

   จะเห็นได้ว่า ประโยคตัวอย่างข้างต้นมีคำกริยาวิเศษณ์เพียงตัวเดียวเท่านั้น แต่ถ้าประโยคนั้นๆ มีคำกริยาวิเศษณ์หลายคำ เราจะมีหลักการในการวางลำดับของคำเหล่านั้น ดังนี้
   ๑. วางคำกริยาวิเศษณ์บอกลักษณะอาการ (Adverb of manner) เช่น happily, fast, slowly, suddenly, well, nicely, bravely, strictly, cleverly, hard เป็นต้น ติดกับคำกริยา หรือหลังกรรม เป็นลำดับแรก
   ๒. วางคำกริยาวิเศษณ์บอกสถานที่ (Adverb of place) เช่น upstairs, around, here, there, everywhere, in London, to Japan, out of the window เป็นต้น เป็นลำดับต่อมา
   ๓. วางคำกริยาวิเศษณ์บอกเวลา (Adverb of time) เช่น today, afterwards, in June, last year, soon, daily, now, late, yesterday, tomorrow, weekly, every year เป็นต้น เป็นลัดับท้ายสุดของประโยค ดังตัวอย่างต่อไปนี้

We have been studying hard at home all day.
พวกเราเรียนหนังสืออย่างหนักที่บ้านตลอดทั้งวัน

My children played football enthusiastically in the rain yesterday.
ลูกๆ ของฉันเล่นฟุตบอลกันอย่างกระตือรือร้น ท่ามกลางสายฝนเมื่อวานนี้

อย่างไรก็ตาม หลักการใช้คำกริยาวิเศษณ์ดังกล่าวข้างต้น ก็มีข้อยกเว้น ในกรณีดังต่อไปนี้
   ๑. ถ้าคำกริยานั้น เป็นกริยาที่แสดงการเคลื่อนที่ เช่น walk, run, go, fly ให้วางคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ติดกับคำกริยาที่แสดงการเคลื่อนที่ทันที ดังตัวอย่างต่อไปนี้
Brad walked to the library in a hurry. แบรดเดินไปยังห้องสมุดอย่างรีบร้อน
Yaya flew to Europe by Thai Airways. ญาญ่าบินไปทวีปยุโรปโดยสายการบินไทย
   ๒. ถ้าประโยคนั้นยาวมาก และมีคำกริยาวิเศษณ์หลายคำ ให้วางคำกริยาวิเศษณ์บอกเวลาหน้าประโยค แล้ววางคำกริยาวิเศษณ์บอกลักษณะอาการไว้หน้าคำกริยาหลัก หลังจากนั้น จึงวางคำกริยาวิเศษณ์บอกสถานที่ไว้ท้ายประโยค ดังตัวอย่างต่อไปนี้
Yesterday, John unexpectedly met Professor Thomson in the auditorium.
เมื่อวานนี้,จอห์นพบกับศาสตราจารย์ทอมสันในห้องประชุมโดยบังเอิญ
At five o'clock in the morning, Drill Instructor angrily yelled at me in the field.
เมื่อเช้านี้ตอนตีห้า ครูฝึกตะโกนใส่ฉันที่กลางสนาม

   จากเนื้อหาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการวางลำดับ "Adverb" หรือคำกริยาวิเศษณ์ที่ใช้ขยายคำกริยาเพื่อบอกลักษณะอาการ บอกสถานที่ และบอกเวลานั้นมีหลักการที่ชัดเจน กล่าวคือ เริ่มจากการวางคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกลักษณะอาการ ตามด้วยคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ และปิดท้ายประโยคด้วยคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกเวลา ตามลำดับ แต่ถ้าคำกริยานั้น แสดงการเคลื่อนที่ ก็สามารถวางคำกริยาวิเศษณ์ที่ต้องการขยาย ติดกับคำกริยาได้เลย หรือถ้าหากประโยคนั้นยาวมาก ก็สามารถวางคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกเวลาหน้าประโยค วางคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกลักษณะอาการในลำดับต่อมา และวางคำกริยาวิเศษณ์ที่บอกสถานที่ ที่ท้ายประโยคได้เลย...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น