กฎหมายใกลัตัว เรื่อง กฎหมายคุ้มครองสัตว์


กฎหมายใกลัตัว เรื่อง กฎหมายคุ้มครองสัตว์
   เชื่อว่าหลายท่านน่ายังพอจำได้เกี่ยวกับข่าวที่มีคนปามีดใส่สุนัข ทำให้สุนัขได้รับบาดเจ็บเป็นแผลที่ใบหน้า ต้องเย็บกว่าร้อยเข็ม และต่อมาศาลได้มีคำพิพากษา ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี ปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา
   จากคดีข้างต้น แม้เจ้าของสุนัขไม่ติดใจดำเนินคดีก็ตาม แต่เนื่องจากการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่เข้าลักษณะของการทารุณกรรมสัตว์ตามความหมายของ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗ อันเป็นความผิดต่อรัฐ เจ้าพนักงานตำรวจจึงต้องดำเนินคดีต่อไป แม้เจ้าของจะไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายก็ตาม

   พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.๒๕๕๗ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายที่เห็นว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครอง มิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม โดยมาตรา ๓ ให้ความหมายของคำว่า ""สัตว์" ไว้ว่า "สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เพื่อเลี้ยงไว้ใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด" และ "การทารุณกรรม" หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์ตาย และให้หมายความรวมถึง การใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือกำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ และได้วางกฎหมายเพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ไว้ในมาตรา ๒๐ ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา ๓๑ คือ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
   ผู้เขียนได้มีโอกาสอธิบายกฎหมายดังกล่าว ให้ผู้ที่รักสัตว์หรือเลี้ยงสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่นักกฎหมายฟัง โดยส่วนใหญ่เห็นว่า โทษที่กฎหมายได้วางไว้น้อยเกินไป และรู้สึกไม่พอใจกฎหมาย แต่เมื่อผู้เขียน ได้ยกตัวอย่างเพื่อประกอบการอธิบายเพิ่มเติม ดังมีรายละเอียดว่า "วันหนึ่ง นาย ก. เจอนาย ข. คู่อริเก่า เดินจูงสุนัขไปตามถนน ด้วยความโกรธแค้น นาย ก. จึงหยิบด้ามไม้กวาดที่วางอยู่ริมถนนเข้าไปตี นาย ข. ๓ ครั้ง ทำให้ นาย ข. ศีรษะแตก และในเวลาเดียวกัน นาย ค. เห็นเหตุการณ์เข้า ด้วยความโกรธแค้นสุนัขของ นาย ข. ที่มาอุจจาระหน้าบ้านทุกวัน จึงใช้ไม้กวาดด้ามเดียวกันตีที่สุนัขของ นาย ข. ๓ ครั้ง เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดแผลที่ใบหน้าสุนัข" ตัวผู้เขียนจึงย้อนถามกับพวกท่านเหล่านั้นว่า คิดว่า การกระทำของ นาย ก. หรือ นาย ค. กฎหมายระวางโทษไว้หนักกว่า ทุกคนเมื่อได้ฟังเรื่องนี้ มักคิดว่า การที่ นาย ก. ทำร้ายร่างกาย นาย ข. จนหัวร้างข้างแตก กฎหมายต้องระวางโทษหนักกว่าเป็นแน่แท้ และถ้าผู้อ่านเป็นอีกหนึ่งคนที่คิดเช่นนั้น ท่านก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คิดผิด เพราะการทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติความผิดไว้ในมาตรา ๒๙๕ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน ๒ ปี และปรับไม่เกิน ๔,๐๐๐ บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ  แต่การทำร้ายสัตว์ กฎหมายบัญญัติความผิดไว้ในมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือ ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ เมื่อได้ฟังแบบนี้ กลุ่มที่รักสัตว์หลายคนค่อนข้างพอใจ ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลักที่กฎหมายบังคับใช้ ก็มีคดีตัวอย่าง ที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และด้วยความที่เป็นความผิดต่อรัฐ ที่ไม่อาจยอมความได้ แม้เจ้าของจะไม่ติดใจ แต่เจ้าพนักงานก็ต้องดำเนินคดีทุกรายไป และไม่อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะเปรียบเทียบปรับได้ คดีจึงต้องนำขึ้นสู่ศาลสถิตยุติธรรม กลุ่มคนรักสัตว์ ยิ่งรู้สึกพอใจในกฎหมายดังกล่าวมากขึ้น
 เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว โกรธ หรือรำคาญสุนัขข้างบ้านตัวไหน ให้บอกกับตัวเองไว้นะว่า "เย็นไว้ๆ" ถ้าอดใจไม่ไหว ก็ลองมองย้อน การกระทำของ นาย ก. กับ นาย ค. ดูว่าโทษเป็นอย่างไร แล้วก็จงจำประโยคนี้ให้ขึ้นใจด้วย นั่นคือ "ผู้ที่ศึกษากฎหมาย ย่อมกระทำในสิ่งที่ไม่มีโทษ หรือรับโทษน้อย" ... กฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น