ข้อหาลักทรัพย์

ข้อหาลักทรัพย์
ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสกลับบ้านช่วงเทศกาลปีใหม่ มีผู้เฒ่าท่านหนึ่งมาเรียบๆ เคียงๆ ถามสารทุกข์สุขดิบ แต่ก็รู้ด้วยสัญชาติญาณว่า คงต้องมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเกี่ยวกับกฎหมายเป็นแน่ เลยสอบถามไปว่า มีเรื่องอะไรหรือเปล่า จึงได้ความว่า เมื่อคืนส่งท้ายปีเก่า ยายพาหลานไปเที่ยวงานวัด แล้วเก็บสร้อยคอทองคำได้ ด้วยความที่ยายแกเดือดร้อนเรื่องเงิน จึงเก็บเอาไว้เป็นของตน แล้วเอาทองไปขาย ซึ่งในงานคืนดังกล่าวนั้น ก็มีการประกาศกระจายเสียงว่า ทองหาย ใครเก็บได้ขอให้นำมาคืนเจ้าของที่กองอำนวยการ โดยต่อมา ด้วยความที่ยายแกเป็นคนที่มีเงินแล้วกินเหล้า เล่นการพนัน เมื่อมีเงินก็ไปซื้อเหล้ามาดื่ม แล้วก็ป่าวประกาศว่า ตนได้เงินมาอย่างไร เจ้าของจึงทราบว่า ยายเป็นคนเก็บได้ ขอให้คืนทองเส้นดังกล่าว หากไม่คืน จะนำเรื่องนี้ไปแจ้งตำรวจ

   เป็นธรรมดาของคนต่างจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญ แค่ได้ยินคำว่าจะแจ้งตำรวจ แม้จะยังไม่รู้ว่าการกระทำของตนผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่มักจะกลัวไว้ก่อน แล้วอ้างว่าไม่อยากเป็นเรื่องเป็นความ และในใจแกอยากจะไปซื้อคืน แต่ติดอยู่ตรงที่ว่า เหล้า กับไฮโล ได้สลายเงินก้อนนั้นไปหมดแล้ว แกจึงมีหนทางเดียวคือ สู้หัวชนฝา แพ้ก็ติดคุกเอา แกว่าอย่างนั้น และได้ถามผู้เขียนพร้อมแถมเข้าข้างตัวเองว่า กรณีแบบนี้ ยายเก็บได้ ยายไม่ได้ไปจี้ไปปล้น ยายจะมีความผิดหรือไม่อย่างไร

  ผู้เขียนฟังข้อเท็จจริงแล้วได้อธิบายว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อหาที่ยายจะโดนดำเนินคดี มีหลักๆ อยู่ ๒ ข้อหา คือ ๑ ลักทรัพย์ หรือ ๒ ยักยอกทรัพย์ (ทรัพย์สินหาย)

   แต่ด้วยความที่ยายแกมีข้อโต้แย้งอยู่ในใจว่าการกระทำของแกจะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลย แต่พอฟังชื่อข้อหา เรื่องยักยอกทรัพย์สินหาย แกก็พอที่จะยอมรับได้ว่าแก่ผิด แต่พอพูดเรื่องลักทรัพย์ แกเถียงคอเป็นเอ็นแลยทีเดียว ผู้เขียนจึงต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการอธิบาย ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ทรัพย์สินที่เราเห็น วางอยู่บนพื้นดิน พื้นหญ้า ก็ดี ถูกวางทิ้งไว้ในที่ใดๆ ก็ดี ผู้พบเห็นหรือเก็บได้ เราต้องระลึกเสมอว่า ของสิ่งนั้นมีเจ้าของ เมื่อเราพบเห็น จำต้องทำหน้าที่พลเมืองดี กล่าวคือ ต้องพยายามนำสิ่งของดังกล่าวสิ่งคืนเจ้าของ และด้วยความที่ของสิ่งนั้นยังมีเจ้าของอยู่ อำนาจการครอบครอง ปกครองทรัพย์ ก็ยังคงอยู่ที่เจ้าของทรัพย์นั้นๆ การทำหล่น ทำหาย หรือ วางลืมทิ้งไว้ มิได้เป็นการแสดงว่า เจ้าของได้สละการครอบครอง ดังนั้น ของหล่น ของที่วางทิ้งอยู่ อำนาจการครอบครองยังคงอยู่ที่เจ้าของทรัพย์ และจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ยายเก็บทองได้นั้น เจ้าของก็ยังคงติดตามหาทรัพย์นั้นอยู่ โดยมีการประกาศให้ผู้คนรับรู้รับทราบ ทั่วทั้งงาน และยายเองก็ได้ยินเสียงประกาศนั้นด้วย จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่า เมื่อทรัพย์หลุดหาย เจ้าของทรัพย์ยังคงติดตามหาทรัพย์ และมิได้มีสละการครอบครองทรัพย์ เมื่อยายเก็บได้ ยายย่อมทราบดีว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้ใด และต้องเอาไปคืนที่ใด การที่ยายนำทองเส้นดังกล่าว ไปเป็นของตนเสีย เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นมาเป็นของตน การกระทำของยาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ บัญญัติว่า
"ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"
ยายแกได้ยินคำว่าคุก ถึงกับน้ำหมากกระจายเต็มพื้น ผู้เขียนต้องรีบอธิบายต่อไปว่า เท่านั้นยังไม่พอนะยาย กรณี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในวัด และเหตุเกิดตอนกลางคืน มาตรา ๓๓๕ เขาเอาโทษหนักขึ้นอีกนะ จากระวางโทษจำคุก ๓ ปี จะเป็น ๗ ปี นะยาย
   แต่ผู้เขียนได้แนะนำไปว่า เรื่องนี้เราคนบ้านเดียวกัน ของหาย ได้คืน เรื่องก็คงจะจบ เจ้าของคงไม่ติดใจเอาความ ยายคงไม่อยากที่จะติดคุกตอนแก่นะยาย ไปหาเงินซื้อทองมาคืนเขาเถอะครับ ยายได้ฟังอย่างนั้น แก่ตกใจและวิตกกังวลเป็นอย่างมาก และบ่นพึมพำว่า เงินก็ไม่มี เล่นไฮโลหมดแล้วเนี่ย เหลือแค่ห้าร้อยเอง จะแก้ปัญหาอย่างไรดี สักพัก ยายแกคิดวิธีแก้ปัญหาได้ เก็บข้าวของแล้วบอกขอบคุณมากเจ้านาย เดี๋ยวยายไปต่อทุนหาเงินซื้อทองไปคืนเขาก่อน เรื่องจะได้จบ ตัวผู้เขียนได้แต่ เฮ้อออออ  สงสัย ๗ ปี คงไม่พอสำหรับยาย ตำรวจคงต้องแถมข้อหาการพนันไปอีกซักปีสองปี น่าจะดี... กฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น