กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง ของหลุดจำนำ

กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง ของหลุดจำนำ
   "ของถูกและดี ไม่มีในโลก" เชื่อว่าหลายคนคงพอได้ยินคำนี้บ้าง ซึ่งบางคนพอได้ยินคำเหล่านี้ ก็โต้แย้งอยู่ในใจว่า "มี" หรือ "ต้องมีแน่ๆ" แต่ต้องแสวงหาเท่านั้นเอง ตัวผู้เขียนเองก็เชื่อมาตลอดว่า ของถูกและดี ไม่มีในโลก เพราะเชื่อว่า ของที่จะขายถูกได้ ต้องมีอะไรที่ไม่ดีซ่อนอยู่แน่ๆ สังเกตุได้จากตัวอย่างต่อไปนี้
   ในโลกสังคมออนไลน์ มีการโพสต์ขายรถยนต์โดยอ้างว่า เป็นรถหลุดจำนำในราคาถูก ซึ่งเท่าที่สังเกตุ สภาพรถหลายคันไม่ต่างอะไรกับรถใหม่ป้ายแดง แต่ราคานั้นกลับถูกราวกับซื้อรถปิกอัพมือแปดก็ไม่ปาน ซึ่งสภาพรถกับราคา ประกอบกับการโฆษณาว่า ซื้อขายได้ ไม่ผิดกฎหมาย ต่อทะเบียน ทำประกันได้ ผู้ที่อยากมีรถของดี ราคาถูก ก็อดที่จะเข้าครอบครองไม่ได้
   การซื้อจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซื้อมาแล้วมีสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นรายๆ ไป ซึ่งก่อนที่ผู้อ่านจะตัดสินใจซื้อ ขอให้อ่านหลักกฎหมายและหลักการที่ศาลใช้ตีความกฎหมายที่เกียวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ บัญญัติว่า "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอไปเสียซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ การโชก รีด เอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร"
   หลักการวินิจฉัย ศาลจะพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้ว ถ้าเห็นว่าผู้ซื้อ รู้ หรือ ควรจะรู้ ว่า ทรัพย์สินนั้นเป็นการได้มาจากการกระทำผิด ผู้ซื้อก็จะมีความผิดฐานรับของโจร แต่ถ้าศาลเห็นว่า ไม่รู้ หรือ ไม่มีเหตุอันควรรู้ ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในฐานะผู้กระทำการโดยสุจริต ในส่วนของคำว่า รู้ หลักการตีความย่อมไม่มีปัญหา แต่ในส่วนของคำว่า "ควรจะรู้" ศาลได้วางหลักการตีความไว้ ดังนี้
   ๑. พิจารณาจากตัวทรัพย์สิน โดยสังเกตุว่าเป็นที่นิยมซื้อขายกันในท้องตลาดหรือไม่ มิพิรุธที่ส่อไปในทางว่าได้มาจากการกระทำความผิด มีการตีตรา ทำสัญลักษณ์ มีตำหนิ หรือมีสิ่งบ่งชี้เป็นที่น่าสงสัยหรือไม่ เช่น กรณีเอาป้ายจราจร หรือทรัพย์สินที่ตีตราของทางราชการมาขาย ผู้ซื้อก็ต้องควรจะรู้ว่าได้ทรัพย์สินมาจากการกระทำความผิด เป็นต้น
   ๒. ราคาทรัพย์สิน ทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริตย่อมต้องมีราคาที่สามารถเทียบเคียงได้ตามท้องตลาด เช่น รถยนต์ ซื้อใหม่ป้ายแดงใช้ประมาณ ๔-๕ เดือน หรือวิ่งไปไม่ถึง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร แต่ราคาลดต่ำกว่าท้องตลาดมาก เช่น รถใหม่ป้ายแดง ราคา ๑ ล้านบาท แต่ถ้ามีคนนำรถคันดังกล่าวสภาพใหม่ วิ่งน้อย มาขายให้ในราคา ๓๐-๕๐% ผู้ซื้อย่อมต้องควรจะรู้ และสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า รถคันดังกล่าว อาจได้มาโดยมิชอบ
   ๓. นิติสัมพันธ์และพฤติการณ์ในการซื้้อขาย การซื้อขายของที่สุจริตนั้น จะทำการโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ เป็นไปตามหลักการขายทั่วไป มีการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย และไม่ปฏิเสธที่จะมีการลงนามหรือทำเอกสารไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ต่อกัน
   ๔. ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ต้องดูว่าทรัพย์สินที่ขาย กับตัวผู้ขายเหมาะสมกันตามฐานานุรูปหรือไม่ เช่น เด็กวัยรุ่น ไม่เรียนหนังสือ เกเร แต่นำกระเป๋า นาฬิกาแบรนด์เนม มาขายในราคาถูก เหล่านี้ย่อมเป็นข้อพิจารณาทั้งสิ้น
   ๕. ตัวคุณเอง ว่าเคยมีประวัติในการกระทำความผิดมาก่อน หรือกระทำผิดในลักษณะเดียวกันมาก่อนหรือไม่

  จากหลักการพิจารณาเบื้องต้น เป็นหลักในการพิจารณาของศาลว่าคำปฏิเสธของผู้ซื้อ จะน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใด เมื่อท่านจะซื้อรถที่ผู้ประกาศขาย โดยอ้างว่า รถหลุดจำนำในราคาถูกนั้น ก่อนซื้อท่านต้องมานั่งพิจารณาในหลักเกณฑ์ ดังนี้
   ๑. รถคันนั้นเป็นของใคร โดยการตรวจสอบเบื้องต้นจากสมุดคู่มือจดทะเบียนว่า กรรมสิทธิ์ในทางเอกสารนั้นโอนให้แก่ใคร หากเป็นของผู้จำนำ ผู้รับจำนำก็สามารถบังคับจำนำหลุดได้ แต่หากเป็นของบริษัทไฟแนนซ์ ผู้เอามาจำนำอาจมีความผิดฐานยักยอกได้ และท่านในฐานะผู้ซื่อต่อ ก็จะตกเป็นผู้รับไว้ด้วยประการใดๆ อันเป็นองค์ประกอบฐานรับของโจรได้ แต่ถ้าเป็นกรณีเอกสารในข้อนี้เป็นที่เรียบร้อย ต้องพิจารณาในข้อต่อไป
   ๒. ราคาซื้อขายเป็นอย่างไร ราคาต่ำเกินไปหรือไม่ โดยเทียบเคียงจากราคาท้องตลาด หากราคายังใกล้เคียงหรือถูกไม่มากเกินไป ก็ต้องพิจารณาข้อต่อไป
   ๓. ผู้ขายยินยอมให้การทำสัญญาซื้อขายเป็นไปโดยเปิดเผยหรือไม่ ยินยอมทำสัญญา จัดไฟแนนซ์ได้ ให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือไม่ และมีการส่งมอบเอกสารประจำรถ ประกอบการซื้อขายครบถ้วนหรือไม่ และผู้ขายยินยอมลงนามในเอกสารหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาถึงข้อนี้ กรรมสิทธิ์ถูกต้อง ราคาใกล้เคียงกับท้องตลาด ทำสัญญากันถูกต้อง มีเอกสารครบ ผู้ซื้อก็ย่อมเบาใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อย่าลืมพิจารณาถึงข้อต่อไปด้วย...
   ๔. ผู้ขายน่าเชื่อถือหรือไม่ เป็นใคร เพราะผู้ที่อ้างว่า รับจำนำรถจากบุคคลอื่น อย่างน้อยๆ ต้องเป็นผู้มีฐานะพอสมควร ถ้าพิจารณาดูแล้วน่าเชื่อถือ การซื้อรถก็ไม่เป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่อย่าลืมพิจารณาในข้อสุดท้ายด้วย
   ๕. ตัวท่านเองเคยซื้อ หรือรับของโจรมาก่อนหรือไม่ ถ้าท่านเคยรับของโจรมาเป็นนิจ การแก้ตัวย่อมไม่มีน้ำหนักพอที่ศาลจะรับฟังได้ แต่ถ้าท่านไม่เคยซื้อเลย ด้วยเหตุผลข้างต้นที่พิจารณาผ่านมาเป็นข้อๆ ย่อมเป็นเหตุผลที่ศาลจะเชื่อว่า ท่านไม่มีเหตุอันควรรู้ว่า รถคันดังกล่าว เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด และท่านจะพ้นผิดจากฐานรับของโจร และอาจได้ใช้รถดี ราคาถูก ก็เป็นได้

    หากพิจารณาแล้ว มีข้อหนึ่งข้อใด ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เบื้องต้น ไม่ว่าคำโฆษณาของผู้ขายจะเป็นอย่างไร และรถคันดังกล่าวท่านจะชอบขนาดไหน คำแนะนำสั้นๆ ก็คือ "อย่าเสี่ยง เพราะ ค่าทนาย มันแพง!!!"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น