เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว เรื่อง แต่งเครื่องแบบทหารผิด? แค่ไหน?

เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว เรื่อง แต่งเครื่องแบบทหารผิด? แค่ไหน?
สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้ ทหารนอกจากต้องทำหน้าที่ป้องกันประเทศแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า "ทหาร" เป็นองค์กรที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งทหารสามารถดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ขายเกินราคา ปัญหาผู้มีอิทธิพล ปัญหาการบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐ ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือแม้กระทั่งปัญหาผักตบชวา ทหารก็สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นแล้ว เมื่อทหารไปปรากฏตัวที่ใด จึงมักได้รับเกียรติและความเคารพนับถือจากผู้พบเห็น
   และจากการที่ทหารได้รับเกียรติและความเคารพนับถือจากผู้พบเห็นอยู่เสมอ อาชีพทหาร จึงเป็นความฝันและความต้องการของชายหลายๆ คน ดังจะเห็นได้จากในแต่ละปี เมื่อมีการประกาศรับสมัครสอบรับราชการทหาร เป็นนักเรียนเตรียมทหารก็ดี นักเรียนนายสิบก็ดี นักเรียนจ่าทหารเรือ นักเรียนจ่าอากาศ นักเรียนดุริยางค์ก็ดี จะมีอัตราการแข่งขันค่อนข้างสูง
   นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่อยากจะเข้ารับราชการทหาร แต่ไม่สามารถที่จะสอบแข่งขันได้ แต่ความอยากเป็นทหารของบุคคลนั้น ก็มิได้ลดน้อยถอยลง ทักจะพยายามที่จะสร้างบุคลิกให้เหมือนทหาร ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เสื้อผ้า หน้า ผม เครื่องประดับต่างๆ บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าเหมือนทหารยิ่งกว่าทหารแท้ๆ เสียอีก ซึ่งการสร้างบุคลิกดังกล่าวเป็นสิทธิของประชาชนที่ชอบที่จะกระทำได้ แต่ก็มีบางคน ที่ไม่เพียงแค่สร้างบุคลิกให้เหมือนทหารเท่านั้น แต่ต้องการทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ตนเป็นทหารที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายก็ดี การปลอมบัตรแสดงตนก็ดี การกล่าวอ้างกับบุคคลอื่นว่าตนเป็นทหารก็ดี การกระทำในลักษณะนี้ มีคำถามเสมอว่า ทำได้หรือไม่? เพียงใด?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๖ ได้บัญญัติว่า "ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การกระทำเช่นนั้น เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

   ข้าราชการนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐ เครื่องแบบข้าราชการ จึงเป็นสิ่งแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า บุคคลที่สวมใส่ชุดนั้นๆ เป็นตัวแทนของรัฐ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแทนรัฐ ตามกรอบของกฎหมาย ที่ได้ให้ไว้แก่ข้าราชการประเภทนั้น ซึ่งอาจเรียกว่า "เจ้าพนักงาน" เครื่องแบบจึงเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นเจ้าพนักงานอย่างหนึ่ง การที่จะสวมเครื่องแบบนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่กฎหมายให้สิทธิ หรืออนุญาตให้สวมใส่ได้เท่านั้น เมื่อปรากฏภาพในโลกออนไลน์ว่า มีชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นทหาร แต่แต่งกายในชุดเครื่องแบบทหาร และติดเครื่องหมายของทหาร และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ การกระทำดังกล่าว จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ สามารถแยกองค์ประกอบของความผิด ได้ดังนี้
๑. ผู้ใด หมายความถึง บุคคล บุคคลเท่านั้นที่จะมีความผิด การนำเครื่องแบบไปสวมกับหุ่น จะไม่เข้าองค์ประกอบของความผิด
๒. ไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หมายความว่า บุคคลนั้นไม่มีสิทธิที่จะสวมใส่เครื่องแบบนั้นๆ อาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ไม่ได้รับราชการอะไรเลย หรือกรณีรับราชการ แต่ไม่มีสิทธิที่จะประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน เช่น เครื่องหมายราชองค์รักษ์ เป็นต้น หรือ ไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เช่น เป็นร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ก็ไม่มีสิทธิใช้ยศเป็นอย่างอื่น หรือใช้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่น แพรแถบ เกินกว่าที่ได้รับพระราชทาน เหล่านี้ล้วนเข้าลักษณะความผิดทั้งสิ้น
๓. ซึ่งการกระทำตามข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น ต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะทำได้
ฉะนั้น การที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องปรากฏว่า ได้มีการแต่งเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน หรือใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อให้คนที่พบเห็นเชื่อว่าตนเป็นผู้มีสิทธิที่จะแต่งเครื่องแบบ หรือใช้เครื่องหมายนั้นๆ
      หากบุคคลนั้น ได้อยู่ตามลำพัง แม้จะแต่งเครื่องแบบเต็มยศ ประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เดินส่องกระจกชื่นชมความหล่อของตนเอง วันละพันรอบ หากมิได้แสดงให้บุคคลอื่นเห็นหรือทำพฤติการณ์อื่นๆ อันทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นข้าราชการนั้นๆ  การกระทำดังกล่าว ก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกรณีการแต่งเครื่องแบบประกอบการแสดง แม้จะมีการแต่งเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน หรือใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และได้แสดงให้บุคคลอื่นเห็นก็ตาม แต่การแสดงดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธที่จะทำ การกระทำดังกล่าวก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกัน

      คำแนะนำ สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการประเภทอื่นๆ (แต่ตัวเองไม่ได้เป็น) หากอยากแต่งเครื่องแบบโดยไม่มีความผิด ประการแรกต้องหน้าตาดี จนเพียงพอที่จะเป็นดารา หลังจากนั้นไปขอรับบทบาทเป็นทหาร ...ตำรวจ หรืออาชีพที่ตัวเองอยากเป็น การแต่งเครื่องแบบในการแสดงของท่าน จะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาใดๆ เลย หรืออีกประการหนึ่ง คือ อยู่บ้าน ปิดประตู ปิดหน้าต่างให้มิดชิด แล้วแต่งเครื่องแบบให้หนำใจ ใส่เครื่องแบบ ใส่เครื่องหมายให้เต็มที่ ทำแบบนี้ก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกเช่นกัน ....ต้องการอ่านทั้งหมด คลิ๊กที่  เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น