แบบไหนจึงเรียกว่า "บันดาลโทสะ" (กฎหมายใกล้ตัว)

แบบไหนจึงเรียกว่า "บันดาลโทสะ" (กฎหมายใกล้ตัว)
   เมื่อมีเรื่องอาชญากรรมที่มีการประทุษร้ายต่อร่างกาย น้อยนักที่ผู้ต้องหาจะยืดอกรับอย่างสง่าผ่าเผย แต่ผู้ต้องหา มักจะกล่าวอ้างไปต่างๆ นาๆ เพื่อให้ตนไม่ผิด ไม่ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง และข้ออ้างที่เป็นที่นิยมของผู้ต้องหามักจะอ้างว่า กระทำการไปโดยการ "บันดาลโทสะ"

   คำว่า "บันดาลโทสะ" ตามหลักภาษาไทย คำดังกล่าวเป็นคำสนธิ เป็นการรวมระหว่างคำว่า "บันดาล" ซึ่งหมายความว่า ให้เกิดมีขึ้น เป็นขึ้น ด้วยแรงอำนาจของสิ่งหนึ่งสิ่งใด และ "โทสะ" หมายความว่า ความโกรธ เมื่อมารวมกันแล้ว "บันดาลโทสะ" จึงหมายความว่า "ให้เกิดมีขึ้น เป็นขึ้น ด้วยแรงอำนาจแห่งความโกรธ" หรือ "ทำด้วยความโกรธ"
   หลักกฎหมายไทย ได้ยอมรับหลักธรรมชาติที่ว่า มนุษย์ทุกคนเมื่อถูกข่มเหง ยอ่มมีความโกรธแค้นเป็นเรื่องธรรมดา โดยบัญญัติให้การรับรองไว้ในประมวลกฎหมายอาญาว่า 
"มาตรา ๗๒ ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
     แต่ถึงแม้กฎหมายจะให้การคุ้มครองการกระทำความผิดที่เกิดจากความโกรธก็ตาม แต่กฎหมายก็ให้การคุ้มครองเฉพาะผู้ที่บันดาลโทสะ เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเท่านั้น และต้องกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น โดยศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้

  การพิจารณาว่า การกระทำลักษณะใด เป็นการบันดาลโทสะ กฎหมายได้วางหลักไว้ ดังนี้
   ๑. ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ซึ่งหมายความว่า การที่ถูกข่มเหงดังกล่าว ต้องถึงขนาดที่บุคคลทั่วๆ ไป เกิดความโกรธ และไม่อาจระงับความโกรธนั้นได้ เช่น ผู้ตายกับจำเลยนั่งดื่มเหล้าด้วยกัน พอเมาได้ที่ ผู้ตายได้เอาเท้าวางพาดหัวจำเลยเล่น พร้อมกล่าววาจาเย้ยหยัน จำเลยเลยเกิดความโกรธ จึงได้ต่อยไปที่หน้าของผู้ตาย และการกระทำของจำเลยเกิดจากการที่ ผู้ตายได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และเมื่อจำเลยได้ต่อยไปที่หน้าของผู้ตายในขณะที่ยังมีความโกรธอยู่นั้น จึงเป็นการฆ่าคนตายโดยการบันดาลโทสะ แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า ผู้ตายกับจำเลยโต้เถียงกันในวงเหล้า แต่จำเลยเถียงสู้ไม่ได้ กรณีดังกล่าว แม้จำเลยจะเกิดความโกรธก็ตาม การที่ต่างฝ่ายต่างโต้เถียงกัน ยังไม่ถึงขนาดที่จะอ้างได้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยได้ต่อยไปที่หน้าของผู้ตาย แม้ในขณะที่ยังมีความโกรธอยู่นั้นก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการบันดาลโทสะได้
   ๒. กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น เมื่อถูกข่มเหงอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ต้องบันดาลความโกรธในทันทีทันใดนั้น หรือต้องไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวขาดตอนไป โดยเมื่อถูกข่มเหงต้องต้องโต้กลับไปในทันทีทันใด ซึ่งกรณีนี้การอ้างว่า บันดาลโทสะ ซึ่งได้รับโทษน้อยลง กับการไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งต้องได้รับโทษหนักขึ้น มีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง การที่ผู้ต้องหา หรือจำเลย จะให้การรับสารภาพ ว่าทำจริง แต่ทำไปเพราะบันดาลโทสะนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาว่า ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แล้วยังต้องพิจารณาว่า ได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นด้วยหรือไม่ เช่น จากกรณีข้างต้น ผู้ตายกับจำเลยนั่งดื่มเหล้าด้วยกัน พอเมาได้ที่ ผู้ตายได้เอาเท้าวางพาดหัวจำเลยเล่น พร้อมกล่าววาจาเย้ยหยัน จำเลยเกิดความโกรธจึงได้ต่อยไปที่หน้าของผู้ตาย การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการบันดาลโทสะ แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า ผู้ตายกับจำเลยนั่งดื่มเหล้าด้วยกัน พอเมาได้ที่ ผู้ตายได้เอาเท้าวางพาดหัวจำเลยเล่น พร้อมกล่าววาจาเย้ยหยัน จำเลยเกิดความโกรธ แต่ได้กลับบ้าน มาคิดวางแผนและดักทำร้ายผู้ตาย การกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นการบันดาลโทสะ ที่จะได้รับโทษน้อยลงแล้ว เมื่อมีเวลาคิดใคร่ครวญ การกระทำดังกล่าว จึงไม่เป็นการกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น เมื่อกระทำความผิดโดยมีการวางแผน การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งต้องได้รับโทษหนักขึ้นอีกด้วย

     ผู้ที่กระทำความผิด ที่คิดจะอ้างว่า ได้กระทำความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะ เพื่อจะหวังให้ได้รับความเมตตาปราณีจากศาลนั้น มีความเป็นที่จะต้องพิจารณาองค์ประกอบของข้อกฎหมายให้ดี ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบด้านการกระทำของเหตุที่ก่อการข่มเหง เช่น การกระทำนั้น เป็นการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ และการกระทำของผู้กระทำความผิด ว่าได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นหรือไม่ด้วย เพราะการภาคเสธว่าตนเป็นผู้กระทำ แต่อ้างว่าบันดาลโทสะ เพื่อขอความเมตตาปราณีจากศาล มันใกล้เคียงกับคำสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ฉะนั้น ก่อนที่จะอ้างว่า บันดาลโทสะ ให้ถามนักกฎหมายสักนิด เพราะ ฆ่าคนโดยบันดาลโทสะ อาจรอดคุก แต่ฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อาจถูกประหาร...กฎหมายใกล้ตัว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น