กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง จำนำโฉนด

กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง จำนำโฉนด
   เมื่อไม่นานมานี้ มีคนใกล้ตัวท่านหนึ่งมาปรึกษาข้อกฎหมาย โดยแจ้งข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ได้ไปกู้เงินนายทุน แล้วเอาหลักทรัพย์ไปค้ำประกันไว้ ต่อมาไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตรงตามสัญญษ และทางเจ้าหนี้จะบังคับยึดทรัพย์ และถามวิธีการว่า ต้องดำเนินการอย่างไร
   ผู้เขียนได้สอบถามไปว่า กู้เงินจำนวนเท่าใด และมีหลักทรัพย์ใดเป็นสิ่งค้ำประกัน จึงได้รับคำตอบว่า กู้เงินนายทุนมา ๑๐๐,๐๐๐ บาท โดยนำโฉนดที่ดินเนื้อที่ ๑๐ ไร่ มอบไว้ให้แก่นายทุน และสัญญาว่าจะชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ๑ ปี
   ผู้เขียนเลยถามต่อไปว่า มีการจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าพนักงานที่สำนักงานที่ดินหรือไม่ และมีการลงนามในเอกสารหรือหนังสือมอบอำนาจหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า นอกจากการลงนามในสัญญาแล้ว ไม่เคยเขียนหรือลงนามในสัญญา หรือหนังสือมอบอำนาจใดๆ อีกเลย และสิ่งที่ส่งให้กับเจ้าหนี้ไป คือ โฉนดฉบับดังกล่าวไว้เท่านั้น และไม่มีการนำไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
   เพียงเท่านี้ผู้เขียนสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ จึงได้อธิบายข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ฟังว่า
เรื่องนี้ ในส่วนของสัญญากู้เงินระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญแล้ว สัญญาเงินกู้ดังกล่าว ย่อมมีผลบังคับตามกฎหมาย ผู้ให้กู้สามารถบังคับได้ เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว ท่านนี้ก็มีความวิตกกังวล เกรงว่าจะต้องเสียที่ดินจำนวน ๑๐ ไร่ไป แต่ผู้เขียนก็ได้ปลอบใจ และอธิบายต่อไปว่า แม้สัญญาเงินกู้จะบริบูรณ์ก็ตาม แต่ในเรื่องที่ดินนั้น เป็นเพียงหลักประกันการชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งการประกันมีหลักใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ การจำนอง กับ การจำนำ ซึ่งข้อกฎหมายที่เกียวข้องมีดังนี้
มาตรา ๗๐๒ อันว่าจำนองนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อน เจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอน ไปยังบุคคลภภายนอกแล้วหรือหาไม่
มาตรา ๗๑๔ อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๗๔๗ อันว่าจำนำนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ 
   สำหรับในเหตุการณ์นี้ เป็นการประกันเงินกู้แบบใด จึงต้องมาพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า เป็นการจำนอง หรือจำนำ ซึ่งหากเป็นการจำนอง แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้รับจำนอง แต่ต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ ... ต้องทำเป็นหนังสือสัญญาจำนองกัน แล้วนำเอาสัญญาดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานที่ดินจดแจ้งไว้ในสารบรรณการจดทะเบียนของโฉนดฉบับดังกล่าวด้วย... เมื่อข้อเท็จจจริงไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การกระทำดังกล่าว จึงไม่เป็นการจำนองตามกฎหมาย ถือว่าไม่มีการจำนองกันตามกฎหมาย จึงไม่อาจบังคับจำนองได้ ข้อพิจารณาข้อต่อไป เป็นการจำนำหรือไม่ การจำนำนั้น แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือแต่...ทรัพย์ที่สามารถนำมาจำนำได้ ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้) เท่านั้น ... ส่วนอสังหาริมทรัพย์ ไม่อาจนำมาจำนำได้ และเงื่อนไขที่สำคัญของการจำนำ คือ ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำนั้นให้แก่ ผู้รับจำนำด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์ ไม่อาจที่จะยกไปจำนำได้ จึงไม่เป็นการจำนำที่ดินตามกฎหมาย แต่การที่ผู้กู้นำโฉนดที่ดินไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ เป็นหลักประกันเงินกู้ การมอบให้ดังกล่าว จึงเป็นการจำนำตามกฎหมายแล้ว แต่...การจำนำนั้นมีผลเฉพาะการจำนำโฉนดที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อที่ดินเลย หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ชอบที่จะบังคับจำนำได้เพียงกระดาษที่เป็นโฉนดที่ดินเท่านั้น ไม่อาจบังคับยึดที่ดินได้
   ผู้เขียนเลยบอกเขาไปว่า ถ้าเจ้าหนี้เขาอยากได้โฉนดก็ปล่อยให้เขายึดไป แต่ที่สำคัญ อย่าไปลงลายมือชื่อโอน หรือมอบอำนาจเด็ดขาด เดี๋ยวที่ดินจะหายไปไม่รู้ตัว...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น