ว่าด้วยเรื่องแบ่งมรดก

ว่าด้วยเรื่องแบ่งมรดก
   การแบ่งมรดก เป็นเรื่องที่กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ ถ้าก่อนเจ้ามรดกตาย หากแบ่งสันปันส่วนทรัพย์สินให้แก่ลูกหลานไม่ดี หรือไม่ได้แบ่ง เมื่อเสียชีวิตไป ส่วนใหญ่ลูกหลานเป็นอันต้องทะเลาะกัน เพราะเรื่องแบ่งมรดกไม่ลงตัว ผมมีเรื่องเล่าไว้เป็นอุทาหรณ์หรือตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้ไว้ให้ทุกท่านให้เห็นความสำคัญของการแบ่งมรดก
   เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม มีคนมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการแบ่งมรดกให้กับทายาท โดยท่านผู้นั้นมีความกังวลว่าจะเสียชีวิตก่อนที่จะมีการแบ่งทรัพย์สินเสร็จ และอยากให้ช่วยร่างพินัยกรรมให้ และต้องการทราบว่า หากท่านเสียชีวิตไปโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายจะแบ่งอย่างไร โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. มีภรรยา ๓ คน ลูก ๓ คน เคยแต่งงาน ๒ ครั้ง แต่ครั้งแรกไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีลูกด้วยกัน ๑ คน แล้วเลิกรากัน ต่อมาแต่งงานกับภรรยาคนที่ ๒ จดทะเบียนสมรส มีลูกด้วยกัน ๑ คน และแอบไปมีกิ๊ก แล้วมีลูกด้วยกัน ๑ คน โดยได้ไปแจ้งเกิดว่าตนเป็นพ่อให้ใช้นามสกุล แม่เสียชีวิต พ่อยังมีชีวิต มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๔ คน
  2. มีทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ และเป็นสินสมรสกับภรรยากับภรรยาคนปัจจุบัน มูลค่าทรัพย์สินประมาณ ๒๐ ล้านบาท


ผู้เขียนจึงอธิบายให้ฟังว่า หากวันนี้ท่านตาย ทรัพย์สินมูลค่า ๒๐ ล้านบาท นั้นจะแบ่งได้ดังนี้

   ๑. ก่อนอื่นภรรยาท่านจะได้รับก่อน ๑๐ ล้านบาท เพราะการที่ท่านตายก่อน กฎหมายให้แบ่งสินสมรสตามกฎหมายครอบครัวก่อน โดยแบ่งเสมือนการหย่าโดยสมัครใจ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๒๕ (๑)
   ๒. สำหรับ ๑๐ ล้านบาทที่เหลือ จึงจะเป็นกองมรดกที่จะตกแก่ทายาท โดยกฎหมายแบ่งตามลำดับ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ ดังนี้
(๑) ผู้สืบสันดาน
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
โดย คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕
 
มาตรา ๑๖๓๕ ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
   (๑) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙(๑) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
   (๒) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙(๓) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙(๑) แต่มีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙(๒) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
   (๓) ถ้ามีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙(๔) หรือ (๖) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙(๕) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิต มีสิทธิได้รับมรดก ๒ ใน ๓ ส่วน
   (๔) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๒๙ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด
จากรายละเอียดและข้อกฎหมายทั้งหมด จึงสรุปได้ว่า...
   ๑. แม้ลูกกับภรรยาคนแรก และลูกคนสุดท้ายกับกิ๊ก จะไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่มีการประกอบพิธีแต่งงาน มีการอุปการะเลี้ยงดู ให้ใช้นามสกุล แจ้งในใบเกิดว่าตนเป็นบิดา หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงฉลองภรรยาตั้งครรภ์ เหล่านี้ล้วนเป็นการรับรองว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรตามระบบกฎหมายเรื่องมรดก อันถือว่าเป็นการรับรองบุตรแล้ว ยังผลให้บุตรคนดังกล่าวมีสิทธิรับมรดก ในกองมรดกทันที บุตรทั้งสาม ต่างมีสิทธิรับมรดกเท่าๆ กัน
   ๒. บิดา ก็ถือว่า เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ลำดับต่อจากบุตร
   ๓. คู่สมรส นอกจากการรับไป ๑๐ ล้านบาทข้างต้น ในส่วนมรดก ภรรยาก็มีสิทธิรับอีก

สำหรับการแบ่งมรดกนั้น สามารถแบ่งได้ ดังนี้
   แม้ตามมาตรา ๑๖๒๙ ลำดับบุตรจะมาก่อนทายาทลำดับอื่นๆ อันจะตัดไม่ให้ลำดับถัดไปมีสิทธิรับมรดกตามมาตรา ๑๖๓๐ ก็ตาม แต่ตามวรรคท้าย ได้บัญญัติว่า หากกรณีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ให้ได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร เมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ จึงมีสิทธิรับเสมือนทายาทชั้นบุตร ส่วนพี่น้องท้องเดียวกับเจ้ามรดก ก็โดนตัดมิให้รับตามกฎหมายดังกล่าว และในส่วนของภรรยานั้น เป็นไปตามมาตรา ๑๖๓๕(๑) กล่าวคือ มีสิทธิรับเสมือนทายาทชั้นบุตร ฉะนั้น บุตรทั้งสาม บิดา และภรรยา มีสิทธิรับเช่นเดียวกับบุตร เงินสิบล้าน จึงแบ่งได้ดังนี้ บิดา ได้ไป ๒ ล้านบาท บุตร ๓ คน ได้ไปคนละ ๒ ล้านบาท และ ภรรยา ได้ ๒ ล้านบาท

   ท่านครุ่นคิดอยู่ใหญ่ แล้วเกิดอาการสะดุ้งเฮือก แล้วอุทานว่า เฮ้ย เมียทำไม มันได้เยอะจัง ผู้เขียนจึงตอบกลับไปทันทีว่า หากภรรยาท่านเสียชีวิตไป ท่านก็ได้เยอะเหมือนกันนะครับ ตอนนี้ผ่านไปก็หลายเดือนแล้ว ท่านจะวางแผนทำอะไรกับภรรยาอยู่หรือเปล่า ... เฮ้อ! ... ไม่น่าตอบไปแบบนั้นเลย ... กฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น