กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง ดอกเบี้ย

กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง ดอกเบี้ย
   "ดอกเบี้ย" คำๆ นี้ เชื่อหรือไม่คนที่ได้ยินอาจรู้สึกไม่เหมือนกัน หากผู้ได้ยินเป็นเจ้าหนี้ หรือผู้มีเงินฝากแล้ว ดอกเบี้ยย่อมเป็นสิ่งที่หอมหวลยวลใจเป็นยิ่งนัก แต่หากเปลี่ยนเป็นลูกหนี้แล้วล่ะก็ นอกจากจะไม่มีความสุขกับคำๆ นี้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่มาสร้างความเดือดร้อนให้บรรดาลูกหนี้ทั้งหลายอีกด้วย โดยคำว่า "ดอกเบี้ย" นั้น ย่อมเข้าใจตรงกันว่า ดอกเบี้ย คือ เงินที่จะได้เพิ่มในลักษณะของค่าตอบแทนที่ผู้ปล่อยกู้ได้จากผู้ขอกู้ และในทางกลับกัน ผู้ขอกู้ก็จำเป็นจะต้องจ่ายเงินในส่วนนี้กับผู้ให้กู้นอกเหนือจากในส่วนของเงินต้นที่กู้มาด้วย โดยการคิดดอกเบี้ยนั้น จะมีการคิดในรูปแบบร้อยละเป็นหลัก เช่น ร้อยละ ๓ ร้อยละ ๕ ร้อยละ ๒๐ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่าย ยินยอมร่วมกันก่อนจะทำสัญญา หรือไม่มีการคิดดอกเบี้ยต่อกันเลยก็เป็นได้
   เท่าที่จำได้ ผู้เขียนเคยให้คำแนะนำท่านหนึ่ง ซึ่งถูกฟ้องเกี่ยวกับสัญญาเงินกู้ โดยในสัญญากล่าวว่า ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน โดยผู้เขียนได้สอบถามจนได้ความว่า ได้ไปกู้เงินนอกระบบจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท จากเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งผันตัวเป็นนายทุนเงินกู้ โดยทำสัญญาต่อกันไว้ โดยกำหนดดอกเบี้ย ร้อยละ ๒๐ ต่อเดือน และกำหนดส่งดอกเบี้ย ทุกวันที่ ๒๗ ของเดือน โดยมอบบัตรเอทีเอ็มของธนาคารXXX พร้อมรหัสเอทีเอ็ม ไว้เป็นประกัน และให้เจ้าหนี้กดเงินเพื่อหักดอกเบี้ย เมื่อชำระดอกเบี้ยได้ ๖ เดือน ผู้กู้ได้เปิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพบข้อกฎหมายว่า ดอกเบี้ย ให้คิดได้สูงสุดในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี เท่านั้น ท่านผู้กู้คงคิดได้ว่า ดอกเบี้ยที่ตนชำระนั้นมันสูงเกินไป และหากคิดแล้ว ๖ เดือน ตกไป ๒๔,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า ๒๐,๐๐๐+ร้อยละ ๑๕ ต่อปี (๒๓,๐๐๐) จึงไม่ประสงค์ที่จะชำระต่อไปแล้ว และได้เปลี่ยนบัญชีดังกล่าว พร้อมกับแจ้งอายัดบัตรเอทีเอ็ม และไม่ชำระตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และได้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีดังกล่าว

   ผู้เขียนได้อธิบายข้อกฎหมายให้ทราบว่า โดยหลักของกฎหมายแล้ว การทำสัญญาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมต้องบังคับตามสัญญานั้น โดยกรณีหากสัญญาไม่มีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ในสัญญา ย่อมถือว่า ไม่มีการคิดดอกเบี้ยต่อกัน ภายหลังจะมาเรียกดอกเบี้ย โดยปราศจากความยินยอมของคู่สัญญานั้นก็ไม่ได้ หรือมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแล้ว จะมาแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยปราศจากความยินยอมของคู่สัญญานั้นไม่ได้ แต่สำหรับกรณีของท่านนั้น เป็นกรณีที่ได้ทำสัญญาที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี กฎหมายบังคับให้ลดลงมาเหลือร้อยละ ๑๕ ต่อปี หรือร้อยละ ๑.๒๕ ต่อเดือนเท่านั้น และสัญญายังต้องด้วยพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เป็นผลให้ดอกเบี้ยเกินอัตราดังกล่าวเป็นโมฆะด้วย
   เมื่อได้รับฟังการอธิบายข้อกฎหมายแล้ว ผู้กู้รายนั้นยิ้มแก้มปริ โดยคิดว่า ความเข้าใจของตนนั้นถูกต้องแล้ว และยังคิดว่าตนได้ชำระเงินไป ทั้งหมด ๒๔,๐๐๐ บาท ย่อมต้องพ้นจากความผูกพันในสัญญาเงินกู้ และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้ว ตนก็ต้องมีสิทธิที่จะเรียกเงินคืน ๔,๐๐๐ บาท อีกด้วย
   ก่อนที่ความคิดของผู้กู้รายนี้จะเตลิดไปต่างๆ นาๆ ผู้เขียนต้องรีบอธิบายต่อไปว่า จริงอยู่ที่ว่า สัญญาเงินกู้ระหว่างท่านกับเจ้าหนี้ ในส่วนของดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะ เท่ากับบังคับไม่ได้ ท่านไม่มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ท่านก็ยังชำระเงินดังกล่าวให้กับเจ้าหนี้ การชำระเงินดังกล่าวนี้ ในทางกฎหมายเรียกว่า เป็นการชำระตามอำเภอใจ เป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตน ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ เมื่อชำระไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับคืนทรัพย์ ผู้กู้รายนี้ เริ่มหน้าถอดสี และคิดว่า คดีนี้คงแพ้คดี และเสียเงินเพิ่มเติมอีกจำนวนมากเป็นแน่แท้ ผู้เขียนจึงอธิบายต่อไปว่า
   ในเรื่องนี้ แม้ดอกเบี้ยจะเป็นโมฆะ แต่ในสัญญานั้น ยังมีผลบริบูรณ์ บังคับได้ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ก็ชอบที่จะนำสัญญาดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาล เพื่อบังคับให้ท่านชำระหนี้ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ข้ออ้างของท่านที่ว่า ได้ชำระดอกเบี้ยไปเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท นั้น เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ เป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ เมื่อชำระไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับจำนวนเงินที่ค้างชำระได้ ท่านจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้กับโจทย์
   สำหรับเรื่องนี้ ไปทำสัญญาประนีประนอมกันที่ศาล แล้วขอผ่อนเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๕ เดือน หรือนำเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทไปชำระเลย ก็พ้นภาระแล้ว
   เมื่อได้ฟังคำอธิบายข้อกฎหมายจนครบถ้วนแล้ว ก่อนท่านกลับ ท่านผู้นั้นได้กระซิบกับผู้เขียนเบาๆ พร้อมกับถามว่า มีให้ผมยืมสัก ๒๐,๐๐๐ บาท ไหมครับ เดี๋ยวผมให้ดอกเบี้ย ร้อยละ ๑๐ ตัวผู้เขียนแอบนึกในใจ ถ้าให้ยืมไป คงไม่ชำระหนี้ตามอำเภอใจให้เราอย่างแน่นอน... กฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น