เกร็ดความรู้ชาวพุทธ เรื่อง การใช้ภูษาโยงและรองโยง


เกร็ดความรู้ชาวพุทธ เรื่อง การใช้ภูษาโยงและรองโยง
   ภูษาโยง คือ แถบผ้าที่ใช้สำหรับสดับปกรณ์หรือบังสุกุลศพแทนการใช้สายสิญจน์ ลักษณะของภูษาโยงทำด้วยผ้าตาดสีทองหรือสีเงิน มีความกว้างหลายขนาด เช่น ๓ ๔ ถึง ๕ นิ้ว ส่วนความยาวแล้วแต่ความต้องการใช้

ลักษณะการใช้งาน 

  • ถ้าเป็นศพเจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าหรือเทียบเท่าขึ้นไป เมื่อจะใช้ภูษาโยงต้องมีแถบผ้าขาว ซึ่งมีขนาดกว้างกว่าภูษาโยงเล็กน้อย เรียกว่า "รองโยง" ปูลาดเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงลาดภูษาโยงไปตามรองโยงนั้น
  • ถ้าเป็นศพที่มีศักดิ์ต่ำกว่าชั้นหม่อมเจ้าลงมา ไม่ต้องใช้รองโยง ให้ลาดภูษาโยงเช่นเดียวกับการใช้สายสิญจน์

การเชื่อมต่อ
พิธีราษฎร์ คือ พิธีศพที่เอกชนจัดขึ้นตามวัดทั่วไป หรือที่บ้านของผู้ถึงแก่กรรมเอง นิยมเชื่อมต่อภูษาโยงไว้ล่วงหน้า คือ นำสายสิญจน์ซึ่งโยงไว้ที่หีบศพมาเชื่อมต่อกับภูษาโยงที่จะใช้ทอดผ้าบังสุกุลให้เรียบร้อย ก่อนเริ่มพิธี

พิธีหลวง คือ พิธีศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งจัดพิธีขึ้น ณ สถานที่ใดๆ ก็ตาม จะมีภูษาโยง ๒ สาย คือ สายหนึ่งโยงมาจากหีบหรือโกศศพเบื้องบนลาดตรง ลงมาเบื้องล่างด้านหน้า แล้วพักส่วนที่เหลือวางไว้บนพาน ตั้งอยู่ที่หน้าที่บูชาศพ สายนี้เรียกว่าสายหนึ่ง อีกสายหนึ่งพับวางไว้บนพาน ตั้งอยู่ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาบนอาสน์สงฆ์ สายนี้เรียกว่า สายสอง เมื่อจะเริ่มพิธีสดับปกรณ์ ให้ลาดภูษาโยงสายสองไปบนอาสน์สงฆ์ แล้วไปเคารพศพด้วยการโค้งคำนับ หรือน้อมไหว้ (ส่วนมากนิยมโค้งคำนับ) ต่อจากนั้นนำภูษาโยงสายหนึ่งมาเชื่อมต่อกับสายสองที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา เรียบร้อยแล้ว จึงเชิญเจ้าภาพทอดผ้า เมื่อพระสงฆ์สดับปกรณ์เสร็จ จึงเก็บภูษาโยงและรองโยงตามลำดับ (กรณีใช้รองโยง)

วิธีการเชื่อมต่อภูษาโยง

  • หากผู้ประกอบพิธี มีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าผู้ตาย ให้เชื่อมต่อภูษาโยงก่อนทอดผ้าบังสุกุล
  • หากผู้ประกอบพิธี มีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าผู้ตาย ให้เชื่อมต่อภูษาโยงหลังทอดผ้าบังสุกุล



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น