กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง ค้ำประกัน

กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง ค้ำประกัน
   "ค้ำให้หน่อยเพื่อน" เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์อะไรซักที่หนึ่ง หลายคนก็สมัครใจ แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่ไม่สมัครใจจะค้ำประกัน แต่จำเป็นต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ด้วยความเกรงใจ และเมื่อค้ำประกันให้แล้ว ต้องมาคอยลุ้นว่า เพื่อนจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ จะหนีหนี้หรือไม่ หรือว่า จะชิงตายก่อนชำระหนี้หมดหรือไม่ เพราะกลัวต้องตกเป็นผู้ที่ต้องรับภาระหนี้จำนวนนั้นแทน
   ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องค้ำประกันนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๑ ค้ำประกัน ตั้งแต่มาตรา ๖๘๐-๗๐๑ โดยหลักของกฎหมายแล้ว ผู้ค้ำประกัน ยินยอมชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น แต่ในรายละเอียดของกฎหมายยังให้สิทธิผู้คำประกันที่จะเกี่ยงว่า ให้เจ้าหนี้ไปติดตามทวงถามเอากับลูกหนี้ชั้นต้นก่อน หากติดตามทวงถามไม่ได้ จึงมาติดตามทวงถามกับผู้ค้ำประกัน หรือมีสิทธิพิสูจน์ว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ และการบังคับไม่ใช่เรื่องยาก และให้เจ้าหน้าที่ไปบังคับเอากับลูกหนี้ก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา  ๖๘๗ ๖๘๘ ๖๘๙ และกรณีที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ที่มีกำหนดแน่นอน โดยที่ผู้ค้ำประกันไม่ได้ให้ยินยอมด้วย ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดจากความรับผิดชอบตามมาตรา ๗๐๐

   แต่อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่ถือหลักความเสมอภาคของคู่สัญญาและยอมรับความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนา กล่าวคือ กฎหมายถือว่า คู่สัญญามีฐานะทางกฎหมายที่เสมอกัน ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจเหนือกว่า ความตกลงหรือความยินยอมที่เกิดขึ้น ย่อมเกิดจากความสมัครใจ ถึงแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะขัดกับกฎหมาย หรือยกเว้นข้อกฎหมายบ้าง กฎหมายก็ถือการยินยอมของคู่สัญญานั้น ต้องเป็นการยินยอมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์ มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย และในกรณีการค้ำประกัน แม้จะมีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิของผู้ค้ำประกันตามที่กล่าวข้างต้น แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องค้ำประกัน มิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การตกลงที่แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในเรื่องนิติกรรมสัญญา มาตรา ๑๕๑ ที่ว่า
"การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ" 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น