โดนข้อหาพกพาอาวุธ (มีดพับ)

โดนข้อหาพกพาอาวุธ (มีดพับ)
  ช่วงกลางดึกคืนวันศุกร์ทีผ่านมา ผู้เขียนต้องสะดุ้งตื่น เมื่อมีโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย ด้วยความง่วงประกอบกับกำลังฝันหวานๆ จึงอดที่จะโกรธคนที่โทรเข้ามาไม่ได้ จึงพูดไปด้วยเสียงอันหงุดหงิดว่า "ดึกป่านนี้ โดนข้อหาเมาแล้วขับใช่มั้ย" แต่เมื่อย้อนคิดให้ดี ต้นสายที่โทรมา เราก็รู้ว่า ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน แล้วจะโดนข้อหาเมาแล้วขับได้อย่างไร จึงสอบถามไปว่า โดนข้อหาอะไรกันแน่ แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไร
   ต้นสายแจ้งว่า โดนข้อหาพกพาอาวุธ ผู้เขียนประเมินว่า ต้องเป็นอาวุธปืนแน่ๆ แต่เพื่อความแน่ใจ ต้องค้นหาความจริงก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ จึงถามไปว่า อาวุธที่ว่าคืออาวุธอะไร พกไว้ที่ไหน พกอย่างไร มีทะเบียนหรือไม่ จึงได้ความว่า อาวุธที่ว่าเป็นมีดพับ ยาวประมาณ ๔ นิ้ว เอาไว้ในที่เก็บของในรถ ไม่มีทะเบียน ตอนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ด่าน และจะขอยืมเงินผู้เขียนจำนวน ๕,๐๐๐ บาท เพื่อเคลียร์คดี ด้วยความที่ผู้เขียนไม่อยากให้ต่อสู้คดีด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับไม่อยากให้ยืมเงิน ผู้เขียนพยายามบอกให้ใจเย็นๆ และสอบถามต่อไปว่า แน่ใจนะว่าไม่มีคดีอื่นๆ หรือความผิดอื่นซ่อนอยู่ด้วย และไม่ได้หลอกเอาเงินผู้เขียนไปทำอย่างอื่น คำตอบที่ได้กลับมาคือ "ชัวร์อย่างที่สุด"
   เมื่อผู้เขียนแน่ใจว่า ถูกจับกุมในข้อหาพกพาอาวุธมีด จึงรีบอธิบายข้อกฎหมายในความผิดฐานดังกล่าว ว่าเป็นความผิดขนาดไหน และเจ้าพนักงานสามารถดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดได้ขนาดไหนให้ต้นสายฟัง ดังนี้

ความผิดฐานพกพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะ เป็นความผิดที่อยู่ในหมวดความผิดลหุโทษ ซึ่งมีบทบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ ซึ่งแก้ไขใหม่ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ ดังนี้ "ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควรหรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (เดิม ๑๐๐ บาท) และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น"
   ในวงการนักกฎหมายยังโต้แย้งกันไม่จบว่า มีดพับ มีดสั้น เป็นอาวุธหรือไม่ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาได้ให้ความหมายของอาวุธไว้ว่า มาตรา ๑ (๕) "อาวุธ" หมายความรวมถึง สิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ โดยมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาออกมาว่า การใช้สเปร์พริกไทย ฉีดพ่นผู้เสียหาย สเปร์พริกไทย ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ และไม่อาจทำให้ผู้ได้รับสารได้ถึงแก่อันตรายสาหัส จึงไม่ถือว่าเป็นอาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา ยึ่งทำให้ฝ่ายที่อ้างว่า มีดสั้น ไม่ใช่อาวุธ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว
   แต่อย่างไรก็ดี แม้มีดจะเป็นอาวุธก็ตาม โทษสูงสุดของการพกพาอาวุธ ก็เพียงแค่ปรับสูงสุดเพียง ๑,๐๐๐ บาท เท่านั้น ไม่ได้เป็นโทษทางอาญาที่น่ากลัวแต่ประการใดเลย และมีดดังกล่าว ศาลเท่านั้นที่มีอำนาจริบ เจ้าพนักงานที่จับกุม ไม่มีอำนาจริบมีดของเรา และการควบคุมตัวผู้กระทำความผิด ในความผิดลหุโทษ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมผู้กระทำความผิดไว้เพียงถามชื่อและที่อยู่เท่านั้น ดังนี้
มาตรา ๘๗ ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดีในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น...
   หลังจากได้อธิบายข้อกฎหมายต่างๆ จบลง ผู้เขียนสามารถรับรู้ได้ถึงอารมย์และความรู้สึกที่ดีขึ้นของผู้ที่โทรมาอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่วายที่จะต้องถูกถามอีกครั้งว่า "ชัวร์นะ" งานนี้เพื่อเป็นการการันตี ก็ต้องมีการขุดเอาบรรพบุรุษมาอ้างกันเลยทีเดียว และก็ยังแนะนำต่อไปว่า สำหรับเรื่องนี้ พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้ ๒ แนวทาง คือ เปรียบเทียบปรับ หรือ ดำเนินคดีต่อไปในชั้นศาล ซึ่ง หากพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ อัตราสูงสุดตามกฎหมาย คือ ๑,๐๐๐ บาท จะปรับสูงกว่านี้ไม่ได้ แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนประสงค์จะดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องถูกดำเนินคดีในชั้นศาล เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว หากเรายินยอมชำระค่าปรับขั้นสูงของโทษ คือ ๑,๐๐๐ บาท คดีก็เสร็จเด็ดขาดเหมือนกัน
   ผู้เขียนจึงแนะนำให้ถามพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร พร้อมทั้งให้แจ้งด้วยว่าตนประสงค์ให้การรับสารภาพและยินดีเสียค่าปรับ ขอให้เจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับ
จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะเลือกหนทางใด เราก็ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเกินกว่า ๑,๐๐๐ บาท แต่ถ้าจะให้ดี คุยกับพนักงานสอบสวนให้รู้เรื่อง แล้วจะทราบความหมายของคำว่า "ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท" ซึ่งอาจหมายถึง หนึ่งบาท สิบบาท หนึ่งร้อยบาท หรือหนึ่งพันบาท ก็เป็นได้ ... กฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น