ท่านทราบหรือไม่ คลอรีนในสระว่ายน้ำอาจทำฟันกร่อนได้ (เกร็ดความรู้สุขภาพ)

ท่านทราบหรือไม่ว่า คลอรีนในสระว่ายน้ำอาจทำฟันกร่อนได้ (เกร็ดความรู้สุขภาพ)
   ถ้าจะพูดให้เป็นหลักวิชาการซักหน่อย คลอรีน (Chlorine)  เป็นธาตุเคมีที่มีเลขอะตอม ๑๗ และสัญลักษณ์ Cl เป็นแฮโลเจน พบในตารางธาตุในกลุ่ม ๑๗ เป็นส่วนของเกลือทะเลและสารประกอบอื่นๆ ปรากฏมากในธรรมชาติ และจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่รวมถึงมนุษย์ด้วย ในรูปของก๊าซคลอรีนมีสีเขียวอมเหลือ มีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ๒.๕ เท่า มีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง และมีพิษอย่างร้ายแรง เป็นตัวออกซิไดซ์ ฟอกขาวและฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี คลอรีนใช้ฆ่าเชื่อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ในน้ำดื่ม และน้ำในสระว่ายน้ำ คลอรีนยังใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ ทำยาฆ่าเชื่อจุลินทรีย์ ทำสีผสมอาหาร ยาฆ่าแมลง สี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม พลาสติก เวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเท็กไลน์ เป็นต้น
 มีการวิจัยจากคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบคลอรีนในสระทำให้ฟันกร่อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
   นักวิจัยจากคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ร่วมจัดอบรมผู้ประกอบการ ให้ความรู้ด้านการปรับปรุงสระว่ายน้ำ เพื่อลดโอกาสฟันกร่อน จากการว่ายน้ำ หลังสำรวจพบ ๘๐% ของสระว่ายน้ำในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีค่า pH ต่ำกว่ามาตรฐาน แสดงว่าน้ำในสระมีความเข้มข้นของกรดสูง เป็นสาเหตุให้ผู้ว่ายน้ำเกิดภาวะฟันกร่อน
 
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ทันตแพทย์หญิง พจนรรถ เบญจกุล ภาควิชาการทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า เคยมีรายงานในต่างประเทศ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว พบว่า นักกีฬาว่ายน้ำกลุ่มหนึ่งมีอาการเสียวฟัน ส่วนในประเทศไทยเพิ่งมีรายงานอาการเสียวฟันในกลุ่มนักกีฬาว่ายน้ำเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา โดยโรงเรียนกีฬาแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เคยศึกษาพบว่านักกีฬาว่ายน้ำจำนวน ๑๘ คน มีภาวะฟันกร่อนหมดทุกคน ซึ่งนักกีฬากลุ่มดังกล่าว จะต้องลงสระซ้อมว่ายน้ำวันละมากกว่า ๒ ชั่วโมง เมื่อตรวจสอบค่า pH ในสระว่ายน้ำพบว่า มีค่าต่ำมาก จึงเป็นที่มาของการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสึกกร่อนของฟัน อันเนื่องมาจากการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ โดยความร่วมมือของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับเทศบาลนครหาดใหญ่
   การศึกษาในระยะแรก เริ่มจากการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในสระว่ายน้ำในอำเภอหาดใหญ่ โดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า พบว่า ร้อยละ ๘๐ ของสระว่ายน้ำ มีค่า pH ต่ำกว่า ๕.๕ หรือมีค่าความเป็นกรดสูง ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า น้ำที่มีค่า pH ในระดับดังกล่าว สามารถทำให้ฟันกร่อนได้ภายใน ๒ ชั่วโมง
   อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการวิจัยเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำในสระว่ายน้ำอีกครั้ง โดยส่งหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้ทราบล่วงหน้า ผลการทดสอบพบว่า น้ำในสระว่ายน้ำส่วนใหญ่ มีค่าความเป็นกรดสูงขึ้นจากเดิม สาเหตุเพราะ ผู้ประกอบการอาจเข้าใจว่า เป็นการตรวจคุณภาพน้ำในเรื่องของความสะอาด จึงเติมสารเคมีในสระว่ายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
   สำหรับค่าความเป็นกรดและด่างของน้ำในสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐาน จะต้องมีค่า pH เท่ากัน ๗-๘ คือ มีค่าความเป็นกลาง หรือค่อนไปทางความเป็นด่างเล็กน้อย วิธีสังเกตุความเป็นกรดและด่างของน้ำในสระว่ายน้ำด้วยตนเอง คือ หากลงว่ายน้ำได้สักระยะหนึ่ง พบว่ามีอาการแสบตา ตาแดง หรือเกิดอาการระคายเคืองตา ให้สันนิษฐานได้ว่า น้ำมีค่าความเป็นกรดสูงเกินไป แต่หากพบว่าขณะว่ายน้ำ ผิวมีความลื่น คล้ายเมื่อสัมผัสน้ำสบู่ ให้สันนิษฐานได้ว่า มีค่าของความเป็นด่างสูงเกินไป
   ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ทันตแพทย์หญิง พจนรรถ เบญจกุล กล่าวว่า สาเหตุของภาวะฟันกร่อน เกิดจากการที่ฟันสัมผัสโดยตรงกับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว หรือการดื่มน้ำอัดลม ซึ่งภาวะฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีค่าความเป็นกรดสูง จะมีลักษณะเฉพาะ คือ มักเกิดการกร่อนบริเวณฟันหน้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่สัมผัสกับน้ำมากที่สุด ผู้มีภาวะฟันกร่อนจะมีอาการเสียวฟัน และฟันมีสีเหลืองเข้มขึ้น เนื่องจากชั้นเคลือบฟันถูกกัดกร่อนให้บางลงจนเห็นเนื้อฟัน ส่วนวิธีการป้องกันภาวะฟันกร่อนนั้น ทำได้โดยการอมน้ำยาฟลูออไรด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านกรดได้ดี ซึ่งทันตแพทย์จะสั่งจ่ายให้ในอัตราที่เหมาะสม แต่หากชั้นเคลือบฟันถูกกัดกร่อนจนหมด ทันตแพทย์ต้องใช้วิธีบูรณะฟัน เช่น การเคลือบฟัน หรือการครอบฟัน เป็นต้น
   หลังจากสำรวจพบว่า น้ำในสระว่ายน้ำส่วนใหญ่มีค่า pH ต่ำกว่ามาตรฐาน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้จัดการอบรมเพื่อให้ข้อมูล ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ในการดูแลปรับปรุงสระว่ายน้ำให้ได้มาตรฐาน เพื่อลดสาเหตุการเกิดฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำ ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในเขตอำเภอเมืองหาดใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ดังนั้น ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป และเชื่อว่าหลังจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะมีความตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้แนวโน้มการพัฒนาปรับปรุงสระว่ายน้ำให้ได้มาตรฐาน เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
   ตามปกติแล้ว ทางราชการได้มีข้อบังคับการควบคุมคุณภาพสระว่ายน้ำ ให้มีสภาพความเป็นกรดด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไว้แล้ว เช่น ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ ประเภทการจัดตั้งสระว่ายน้ำ พ.ศ.๒๕๓๐ ได้กำหนดให้สระว่ายน้ำมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ ๗.๒-๘.๔ ซึ่งเป็นสภาพของกรดและด่างอ่อนๆ และต้องควบคุมให้อยู่ในระดับนี้ทุกวัน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้มาใช้บริการ
   ทั้งนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ หรือผู้ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำเป็นประจำ ก็ควรจะได้มีการตรวจสุขภาพฟัน อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง เพราะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟันกร่อนได้ง่าย การตรวจสุขภาพฟันดังกล่าว จะทำให้ทราบว่ามีการเกิดภาวะฟันกร่อนหรือไม่ ถ้าหากพบว่า มีภาวะฟันกร่อน จะต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วนเพื่อลดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะการใส่ครอบฟัน ก็เป็นเครื่องมือป้องกันการสึกกร่อนของฟันที่อาจเกิดขึ้นได้ ... เกร็ดความรู้สุขภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น