เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว ว่าด้วยเรื่อง "หนี้พนัน"

เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว ว่าด้วยเรื่อง "หนี้พนัน"
   แม้การพนันจะแทรกซึมอยู่ในทุกชนชั้นของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหวยใต้ดิน เล่นไพ่ เล่นไฮโล เล่นพนันบอล หรือพนันอย่างอื่นอีกมากมาย ซึ่งคนในสังคมจำนวนไม่น้อยก็หลงไหลกับความสนุกสนานของมัน แต่ในมุมของกฎหมายมองว่า การพนันเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ระบบกฎหมายจึงไม่ได้ให้การยอมรับ และถือว่าการพนัน ไม่ทำให้เกิดหนี้กต่อกันและไม่สามารถบังคับต่อกันได้ ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๓ บัญญัติไว้ว่า "อันว่าการพนันขันต่อ หาก่อเกิดหนี้ไม่"
   คำว่าหาก่อเกิดหนี้ไม่ คือ ไม่มีหนี้หรือภาระที่ต้องชำระหนี้ต่อกันเลย เช่น กรณีเราเป็นผู้ซื้อหวยใต้ดิน ได้ซื้อและสัญญาว่าจะชำระเงินค่าซื้อหวยในงวดหน้า กรณีดังกล่าว เราก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องชำระเงินแต่อย่างใด และเช่นเดียวกัน แม้หวยที่เราซื้อจะถูกก็ตาม เจ้ามือก็ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระ ซึ่งกรณีนี้ แม้จะนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาล ศาลก็ไม่อาจที่จะยอมรับ หรือบังคับตามที่ขอได้
   แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง หาเป็นไปตามหลักกฎหมายไม่ ร้อยทั้งร้อย เป็นหนี้พนันแล้วต้องดิ้นรน หาเงินไปชำระหนี้ หรือแม้กระทั่ง
เจ้ามือหวยผู้มีอิทธิพลก็ตาม เมื่อมีคนซื้อหวยถูกครั้งละมากๆ ก็จำต้องหาเงินมาชำระให้แก่ผู้เล่นจนถึงขั้นล้มละลายไปก็มี ซึ่งกรณีหนี้การพนันนี้ เป็นเรื่องที่น่าบังเอิญยิ่งนัก ผู้เขียนได้รู้จักทั้งสองฝ่าย จึงมีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน ซึ่งในเรื่องนี้มีการฟ้องร้องต่อศาลแล้ว โดยฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผู้ซื้อหวย ฝ่ายจำเลย เป็นฝ่ายเจ้ามือ ซึ่งข้อเท็จจริงมีว่า เดิมฝ่ายโจทก์และจำเลยรู้จักกันเป็นอย่างดี และเคยซื้อขายหวยต่อกัน พอถึงงวงดังกล่าว ฝ่ายโจทก์ได้เลขเด็ด น่าจะเด็ดสุดๆ จึงได้ซื้อหวยกับฝ่ายจำเลย โดยซื้อเป็นเลข ๓ ตัว จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ผลปรากฏว่า หวย ๓ ตัวดังกล่าว ตรงกับเลขท้าย ๓ ตัวของรางวัลที่หนึ่ง ในวงการหวยเรียกว่า ถูกหวย ซึ่งฝ่ายจำเลยต้องชำระเงินให้แก่ฝ่ายโจทก์ค่าถูกหวยในกรณีนี้ จำนวนมากถึง ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ (สิบสี่ล้านบาท) แต่ฝ่ายจำเลย ไม่มีเงินมากพอที่จะชำระให้แก่ฝ่ายโจทก์
   จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ท่านผู้อ่านลองพิจารณาประกอบข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเบื้องต้น หากท่านเป็นคู่กรณี ท่านจะดำเนินการอย่างไร
   หากมีข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ หากผู้เขียนเป็นฝ่ายจำมือ ผู้เขียนเลือกที่จะไม่ชำระเงินอย่างแน่นอน โดยกล่าวอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่า "การพนันขันต่อหาก่อเกิดหนี้ไม่" แล้วก็ไม่ต้องชำระ แต่หากผู้เขียนเป็นฝ่ายผู้ซื้อหวย คงสวดมนต์ภาวนา ให้เจ้ามือมาชำระเงินจำนวนดังกล่าว เพราะหนี้ดังกล่าว กฎหมายไม่รับรอง และไม่อาจที่จะบังคับได้ในศาล จึงไม่มีหนทางใดที่จะไปบังคับเอากับเจ้ามือ และคงต้องยอมรับสภาพ
   ซึ่งเป็นจริงดังคาด แม้เจ้ามือจะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ซึ่งไม่อาจที่จะกล่าวอ้างว่า การพนันขันต่อหาก่อเกิดหนี้ไม่ แต่เมื่อเจ้ามือพบว่าจำนวนเงินที่จะต้องชำระมีจำนวนมาก จึงมีเจตนาที่จะไม่ชำระเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้ตามหลักกฎหมายแล้ว ผู้ซื้อจะดำเนินการเรียกร้องเงินจำนวน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามกฎหมายไม่ได้เลย
   แต่เรื่องไม่จบลงเพียงเท่านี้ ฝ่ายผู้ซื้อก็เกิดความกังวลใจ เกรงว่าเจ้ามือจะไม่ชำระเงินดังกล่าว จึงมาทวงถามพร้อมนำหนังสือรับสภาพหนี้มาทำสัญญากับฝ่ายเจ้ามือ โดยระบุไว้ในสัญญาว่า มูลแห่งหนี้ดังกล่าว มาจากการกู้ยืมเงิน และทั้งสองฝ่ายก็ได้ลงนามในสัญญานั้นในฐานะคู่สัญญา
   ข้อเท็จจริงมาถึงจุดนี้ คดีจะพลิกหรือไม่ เราไม่อาจหยั่งรู้ถึงคำพิพากษาของศาลได้ แต่สิทธิในการดำเนินการตามกฎหมายของโจทก์เกิดขึ้น โดยสามารถฟ้องเรียกเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ ส่วนฝ่ายจำเลยมีทางแก้อยู่หนทางเดียว คือ หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ตากเป็นโมฆะ เนื่องจากเกิดจากมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเกิดจากมูลของการเล่นพนัน แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าว เป็นการยกข้อต่อสู้แบบเลื่อนลอย และเป็นการนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อหักล้างพยานเอกสาร แม้ในเรื่องการกู้เงิน กฎหมายลักษณะพยานจะไม่ห้ามสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารก็ตาม แต่การสืบพยานบุคคล หักล้างพยานเอกสารนั้นเป็นเรื่องยาก จึงน่าเชื่อว่าคดีนี้จะพลิก
   สำหรับเรื่องเกี่ยวกับการพนัน หลายคนเคยมาปรึกษากฎหมาย แต่เมื่อผู้เขียนยกหลักกฎหมายให้ฟัง พร้อมแนะนำว่าไม่ต้องชำระ ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ ร้อยทั้งร้อยไม่ปฏิบัติตาม และเลือกที่จะไปกู้ยืมเงินไปชำระหนี้พนัน สุดท้ายแล้วคนเหล่านั้นก็ผิดนัดหนี้กู้ยืมแทน ผู้เขียนเคยสอบถามผู้ที่กู้เงินไปชำระหนี้พนัน แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ พร้อมบอกว่า "หนี้กู้ยืมฟ้องได้นะ แต่หนี้พนันฟ้องไม่ได้ ทำไมไปชำระเงินให้หนี้พนันที่ฟ้องไม่ได้หล่ะ แล้วหนี้กู้ยืมที่เขาฟ้องได้ ทำไมไม่ชำระ" คำตอบที่ผู้เขียนได้รับกลับมาทำให้ผู้เขียนงงเป็นอย่างมาก "ศาลแพ่งไม่กลัว ศาลทหารไม่กลัว ศาลปกครองไม่กลัว ศาลรัฐธรรมนูญไม่กลัว กลัวศาลเดียว..."
   นับจากวันนั้น ผู้เขียนได้พยายามค้นหาคำตอบอย่างสุดความสามารถ ยังไม่สามารถค้นพบขอบเขต อำนาจของ "ศาลเตี้ย" ได้ว่า มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาอย่างใด เหล่าบรราดลูกหนี้ทั้งหลาย จึงกลัวนักกลัวหนา ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายเหล่ากูรูนักกฎหมายที่จะต้องศึกษาและค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป... เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น