กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง โดนตัดกระแสไฟฟ้า

กฎหมายใกล้ตัว เรื่อง โดนตัดกระแสไฟฟ้า
   ประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสไปเที่ยวหาเพื่อนที่ต่างจังหวัด และนึกอยากไปเที่ยวชมบรรยากาศผามออีแดง ประสาทเขาพระวิหาร จึงให้เพื่อนคนนั้นชวนพ่อแม่และญาติๆ ไปเที่ยมชมบรรยากาศทะเลหมอกที่ผามออีแดง โดยเพื่อนคนนี้มีบ้านพักหลังเล็กๆ อยู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อไว้สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งนานๆ จะได้แวะไปพักอาศัย
  กว่าร้อยกิโล จากบ้านเพื่อนคนดังกล่าว จนมาถึงเขาพระวิหาร ก็ได้มาชมความงามของผามออีแดงสมใจ แต่ในส่วนของเขาพระวิหารนั้น ไม่สามารถขึ้นได้ เนื่องจากเป็นอธิปไตยของทางกัมพูชา หลังจากคิดว่าชมจนสมใจอยากแล้ว ทั้งหมดจึงพากันลงจากเขา แล้วมุ่งหน้าไปบ้านพักทันที การเดินทางครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที จากเขาพระวิหาร ก็มาถึงบ้านพักของเพื่อน พ่อของเพื่อนรีบคว้ากุญแจบ้าน แล้วกระโจนลงจากรถ พร้อมกับบ่นพึมพำๆ ว่า "มวยๆๆๆ"  หลังจากเปิดประตูบ้านด้วยความรวดเร็ว หลังจากผู้เขียนจอดรถ เอาข้าวของทั้งหมดลงมาเรียบร้อย ก็เดินเข้าบ้าน เห็นพ่อเพื่อนพยายามกดรีโมท และบ่นพึมพำ อีกครั้งว่า โทรทัศน์พัง มาซ่อมให้หน่อย ผู้เขียนจึงได้ลองไปเปิดไฟ เปิดพัดลม ปรากฏว่า ทุกอย่างนิ่งสนิท จึงได้ไปตรวจสอบที่ฟิวส์ สะพานไฟ  ซึ่งจากการตรวจสอบแล้ว ทุกอย่างล้วนปกติ จึงเดินไปดูที่มิเตอร์ ปรากฏว่า มิเตอร์ไฟโดนตัด ท่านผู้อ่านลองนึกภาพตามนะครับ คนแก่วัย ๗๐ กว่าๆ อยากดูมวย แต่ดูไม่ได้ แกกระวนกระวายตั้งแต่บนเขาพระวิหารแล้ว รถมาถึงยังจอดไม่สนิท แกก็คว้ากุญแจบ้านกระโดดลงจากรถ สุดท้ายแล้วต้องผิดหวัง เพราะมิเตอร์ไฟโดนตัด

   ทั้งเพื่อนผู้เขียนและผู้เขียน เลยต้องรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้ทราบว่า เพื่อนไม่ได้จ่ายค่าไฟมา ๓ เดือนแล้ว (เขาเรียกว่า ค่ารักษาหม้อ รวมประมาณ ๗๕ บาท) จึงต้องตัดงดจ่ายกระแสไฟฟ้า หากประสงค์จะใช้ไฟ ให้ชำระเงินที่ค้าง และชำระค่าติดตั้งมิเตอร์ใหม่ และต้องรอคิวช่างว่าง หากต้องการด่วน ต้องจ้างแบบพิเศษ แต่เมื่อเห็นอารมย์คนแก่อยากดูมวย และต้องนอนพักที่บ้านหลังนี้วันนี้ด้วยแล้ว เสียเท่าไหร่ก็คงต้องเสีย จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการติดตั้งให้โดยเร็ว เจ้าหน้าที่ก็มาเร็วสมใจ และเมื่อติดตั้งเรียบร้อยก็ยังพอที่จะได้ดูมวยแก้เครียดนิดหน่อย แต่ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเมื่อเทียบกับค่ารักษาหม้อประมาณ ๗๕ บาท ต้องถือว่ามากโข แต่เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศของการมาพักผ่อน จำต้องยอมจ่ายไป
   เชื่อหรือไม่ หลังผ่านเรื่องนี้ไปไม่ถึงอาทิตย์ ก็มีคนโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องนี้ วินาทีแรกที่ผู้เขียนฟังจบ อยากจะบอกเหลือเกินว่า ผู้เขียนก็เพิ่งไปพบเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาเหมือนกัน และยอมจ่ายเงินให้การไฟฟ้าด้วย และจะแนะนำให้ทำตามที่ผู้เขียนได้ทำมา แต่การตอบข้อกฎหมาย ในเรื่องที่เราไม่แน่ใจ แล้วไปแนะนำในสิ่งที่ผู้ขอคำปรึกษาเสียประโยชน์โดยที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงแจ้งว่า สำหรับเรื่องนี้ ขอเวลาหาข้อมูลสัก ๒-๓ ชม. แล้วจะโทรไปแจ้งภายหลัง
   แทบไม่น่าเชื่อ ผู้เขียนค้นพบ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการไฟฟ้า พ.ศ.๒๕๕๘ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ โดยคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้า จาก การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานกำหนด ในเรื่องวิธีการแจ้งหนี้การชำระค่าบริการ การตัดไฟ การต่อกลับ ไว้ในหมวดสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า ไว้ดังนี้
ข้อ ๑๖ การเรียกเก็บค่าไฟฟ้า ผู้ให้บริการไฟฟ้า ต้องดำเนินการ ดังนี้
   (๑) ต้องกำหนดเวลาชำระค่าไฟฟ้าในใบแจ้งค่าไฟฟ้า ไม่น้อยกว่าสิบวัน นับแต่วันลงใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า
   (๒) เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนดเวลา ผู้ให้บริการต้องส่งหนังสือเตือน ณ สถานที่ตามข้อ ๑๔ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าชำระค่าไฟฟ้าไม่น้อยกว่าห้าวัน นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
   ข้อ ๑๗ กรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ชำระค่าไฟฟ้า ตามข้อ ๑๖ (๒) ผู้ให้บริการไฟฟ้ามีสิทธิงดจ่ายไฟฟ้า เว้นแต่ผู้ใช้ไฟฟ้าร้องขอผ่อนผันการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเหตุผล และความจำเป็น และให้คำมั่นว่าจะไปชำระค่าไฟฟ้าภายในวันถัดไป
   กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามวรรคแรก และให้คำมั่นว่าจะไปชำระค่าไฟฟ้าภายในวันถัดไปอีกครั้ง ให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถร้องขอผ่อนผันได้อีกหนึ่งครั้ง โดยผู้ให้บริการไฟฟ้า สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการได้
   กรณีที่ผู้ให้บริการไฟฟ้างดจ่ายไฟฟ้าไปแล้ว แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ชำระค่าไฟฟ้า ภายในวันที่งดจ่ายไฟฟ้า ผู้ให้บริการไฟฟ้า ต้องดำเนินการต่อกลับโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าดำเนินการ ต่อกลับไฟฟ้า
   ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ย่อมได้รับการคุ้มครองจากประกาศฉบับนี้ว่า การที่ผู้ให้บริการจะตัดไฟได้นั้น ต้องได้ความว่า ผู้ใช้ไฟฟไม่จ่ายค่าไฟ แต่การไม่จ่ายค่าไฟนั้น ผู้ให้บริการต้องมีการออกใบแจ้งหนี้ มีกำหนดเวลาชำระไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน ผู้ใช้บริการได้รับใบแจ้งหนี้แล้วไม่ชำระ ก็ต้องมีหนังสือเตือนให้ชำระ และแม้จะตัดไฟแล้วก็ตาม เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้ชำระค่าไฟฟ้าภายในวันที่งดจ่ายไฟฟา ผู้ให้บริการไฟฟ้า ต้องดำเนินการต่อกลับโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าดำเนินการต่อกลับไฟฟ้า
   ผู้เขียนอ่านไป สรุปไป แล้วก็เศร้าไป เลยนึกถึงคำพังเพยที่ว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง นับประสาอะไร สองมือ สองเท้าอย่างเรา ที่ต้องเสียค่าโง่ให้การไฟฟ้า แต่เรื่องเสียค่าโง่นี้ ผู้เขียนต้องปิดเงียบไว้ ยังไม่เคยบอกใครเลยนพ เพราะอายจริงๆ เฮ้อ... กฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น