เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว ตอน สิทธิของผู้ต้องหา

เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว ตอน สิทธิของผู้ต้องหา
"คุณถูกจับแล้ว คุณมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของคุณนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้" ประโยคนี้คงพอคุ้นหูกันบ้าง ยิ่งถ้าเป็นคอหนังฝรั่งแนวสืบสวนสอบสวนด้วยแล้ว เชื่อว่าต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอน หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่พูดทำไม พูดแล้วเกิดประโยชน์อะไร และถึงพูดไปในหนังก็ยังยิงกันอยู่ดี แต่ในหนังไทย กลับไม่เคยมีการนำคำพูดดังกล่าวมาใช้แต่อย่างใด
ภายหลัง พ.ศ.๒๕๔๗ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๒๒ มาตรา ๘๓ ได้แก้ไขเพิ่มเติมและมีผลบังคับใช้ การดำเนินการจับของเจ้าพนักงาน ต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ที่ถูกจับทราบ โดยเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการจับต้องปฏิบัติต่อผู้ที่จะถูกจับ ดังนี้

๑. ต้องแจ้งให้ทราบว่า เขาต้องถูกจับ เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบเบื้องต้นว่าเขาจะต้องถูกจับ และไม่ต่อสู้ขัดขวาง
๒. ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ หากจับตามหมายจับ ให้แสดงหมายจับ เพื่อให้ทราบว่า เขาต้องถูกจับในข้อกล่าวหาใด รายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และเพื่อให้ผู้ถูกจับจะได้ทราบข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงที่เขาจะต้องถูกจับตามหมายจับที่ได้แสดงนั้น ซึ่งผู้ถูกจับจะสามารถที่จะได้เตรียมการต่อสู้
๓. ต้องแจ้งสิทธิว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกจับได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับที่จะไม่ให้การในชั้นจับกุม หรือในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อที่ผู้ถูกจับจะเตรียมตัวในการที่จะแก้ข้อกล่าวหาโดยไม่มีผู้ใดบังคับให้เขาให้การในขณะนั้น ถ้าเขายังไม่พร้อมที่จะให้การ ซึ่งเมื่อเขาให้การไปแล้ว อาจจะเสียเปรียบในการต่อสู้คดีได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับได้มีโอกาสที่จะต่อสู้ได้อย่างเต็มที่
๔. ต้องแจ้งว่า ถ้อยคำที่ให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ เพื่อเตือนให้ผู้ถูกจับให้การด้วยความระมัดระวัง
๕. ต้องแจ้งว่า มีสิทธิที่จะพบหรือปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความได้ เพื่อให้ผู้ถูกจับสามารถที่จะมีที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้ามาคุ้มครองช่วยเหลือแก่เขา ในการแก้ข้อกล่าวหา
๖. เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบว่า มีสิทธิแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งเขาไว้วางใจทราบ เพื่อให้ญาติเตรียมข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการต่อสู้ หรือหลักทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในชั้นพนักงานสอบสวนหรือชั้นศาลต่อไป

จากขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว ถือเป็นบทบังคับเจ้าพนักงานให้กระทำการตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในทางกลับกัน เป็นบทที่รองรับสิทธิของผู้กระทำความผิดว่าแม้ว่าเจ้าพนักงานจะแจ้งหรือไม่ก็ตาม สิทธิของผู้ที่ถูกจับก็มีครบถ้วนบริบูรณ์ โดยเจ้าพนักงานจะบังคับให้ผู้ต้องหาสารภาพ หรือให้การโดยไม่สมัครใจนั้นไม่ได้ หากบังคับคำให้การดังกล่าว หรือการจับดังกล่าวก็เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วศาลยังไม่รับฟังพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดอีกต่างหาก ซึ่งตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่แสดงให้เห็นความสำคัญของสิทธิของผู้ต้องหา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๘๗/๒๕๔๗
    การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาว่า มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วต่อมาจำเลยแสดงเครื่องหมายทะเบียนและนำสำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแสดงต่อร้อยตำรวจโท ก. ซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีนี้
การกระทำของจำเลยดังกล่าวเท่ากับจำเลยให้การปฏิเสธในฐานที่จำเลยเป็นผู้ต้องหา ถูกกล่าวหาว่ามีอาวุธปืนของกลางไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๔ ให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาที่จะให้การรับหรือปฎิเสธอย่างใดก็ได้ เมื่อกฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาไว้เช่นนี้ ดังนั้น ถึงแม้ว่าเครื่องหมายทะเบียนและสำเนาใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนที่จำเลยนำมาแสดงต่อร้อยตำรวจโท ก. จะเป็นเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการก็ตาม ก็จะเอาความผิดแก่จำเลยฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๑๔๘/๒๕๕๑
เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓ วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุม มีข้อความว่า จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๘๔ วรรคสี่ และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓ วรรคสอง บัญญัติเลย ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทย์
แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าว มีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึก เขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึก เป็นคนละคนกับคนที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วน ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา ๘๓ วรรคสองบัญญัติ ฉะนั้น ถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน
ดังนั้น บันทึกการจับกุม จึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖

จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นว่า ศาลให้ความสำคัญกับการแจ้งสิทธิผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก เมื่อใดที่ท่านต้องตกเป็นผู้ต้องหา หรือจะถูกจับ ให้บอกกับตัวเองไว้ว่า อย่าตกใจ มีสิทธิทางกฎหมายให้การคุ้มครอง จะจำได้หรือจำไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่หากท่านเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการจับกุมผู้กระทำความผิดเมื่อไหร่ หากลืมว่าสิทธิผู้ต้องหามีอะไรบ้าง หรือลืมแจ้งสิทธิแล้วล่ะก็ บอกได้คำเดียว เป็นเรื่องแน่นอน... 
อ่านเรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัวเรื่องอื่นๆ แนะนำที่ ... เรื่องเล่ากฎหมายใกล้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น