เกร็ดความรู้ชาวพุทธ เรื่อง เทียนพรรษา ไม่ใช่ เทียนจำนำพรรษา
ช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี มีประเพณีที่ชาวพุทธนิยมปฏิบัติอยู่กันทั่วไปประเพณีหนึ่งคือ ประเพณีการนำเทียนพรรษา ไปถวายยังวัดวาอารามต่างๆ เทียนที่จัดทำไปถวายแด่พระสงฆ์เพื่อใช้ประโยชน์ในระหว่างพรรษานี้ จึงเรียกสั้นๆ ว่า "เทียนพรรษา" จนกระทั่งเกิดเป็นประเพณีการหล่อเทียนพรรษา แห่เทียนพรรษา และถวายเทียนพรรษาอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้มีคำเรียก "เทียนพรรษา" อีกชื่อหนึ่งว่า "เทียนจำนำพรรษา"
คำว่า "เทียนจำนำพรรษา" นั้น สันนิษฐานว่าคงจะเรียกด้วยความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดคือ ไปคิดเทียบกับ "ผ้าจำนำพรรษา" ซึ่งนิยมถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว เมื่อเรียก "ผ้าจำนำพรรษา" ได้ ก็เลยเรียก "เทียนจำนำพรรษา" ไปด้วย
คำว่า "จำนำพรรษา" หมายถึง จำพรรษาครบตามเวลาแล้ว" ก็คือ "ออกพรรษาแล้ว" นั่นเอง ถ้าพูดว่า "เทียนจำนำพรรษา" ก็ต้องหมายถึง "เทียนที่ถวายหลังออกพรรษาแล้ว" แต่ก็ไม่เคยมีประเพณีถวายเทียนหลังจากออกพรรษา มีแต่ถวายก่อนเข้าพรรษาทั้งนั้น การเรียกเทียนที่ถวายก่อนเข้าพรรษาว่า "เทียนจำนำพรรษา" จึงไม่สมเหตุสมผล
คำเดิมท่านเรียกว่า "เทียนพรรษา" ก็สื่อความหมายชัดเจนอยู่แล้ว มิได้มีข้อบกพร่องใดๆ เมื่อไปเรียกเป็น "เทียนจำนำพรรษา" จึงทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนเลอะเลือนสับสน
สรุปว่า คำว่า "เทียนจำนำพรรษา" นั้น เรียกด้วยความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด จึงไม่ควรใช้
"เทียนพรรษา" คำเดิมมีอยู่แล้ว และดีอยู่แล้ว สื่อต่างๆ จึงควรช่วยกันทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ชวนให้เกิดความสับสน และเข้าใจผิดยิ่งขึ้นไปอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น